หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคอง

จัดโดย ศูนย์ความเป็นเลิศการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


  • ราชวิทยาลัยที่กำกับดูแล:
    ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย

  • ชื่อสาขา: ก) สาขาประเภทที่ 3

    • ภาษาไทย: เวชศาสตร์ประคับประคอง

    • ภาษาอังกฤษ: Palliative Medicine


ชื่อหนังสือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

  • ชื่อเต็ม (ไทย):
    วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคอง

  • ชื่อเต็ม (อังกฤษ):
    Diploma, Thai Subspecialty Board of Palliative Medicine

  • ชื่อย่อ:

    • ภาษาไทย: วว. อนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคอง

    • ภาษาอังกฤษ: Dip., Thai Subspecialty Board of Palliative Medicine


พันธกิจของแผนการฝึกอบรม

มุ่งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองที่มีความสามารถในการ:

  • ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองที่มีความซับซ้อนอย่างครอบคลุม
  • ให้คำปรึกษาแก่แพทย์สาขาอื่นและทีมสุขภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองในบริบทที่หลากหลาย
  • ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประสานงานเครือข่ายการดูแลระหว่างโรงพยาบาล บ้าน และชุมชน
  • บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลผู้ป่วย
  • สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคอง
  • พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของทีมสุขภาพและอาสาสมัครให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็น
  • มีเจตนารมณ์แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถพัฒนาไปสู่บทบาทผู้นำในการกำหนดทิศทางของระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง
  • แสดงพฤติกรรมวิชาชีพที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วย และญาติ
  • ปฏิบัติงานสอดคล้องกับความต้องการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

คุณสมบัติผู้เข้าอบรม

ศูนย์การุณรักษ์มีการประกาศรับสมัครแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่เว็บไซต์และเพจของศูนย์การุณรักษ์ตามรอบปีการศึกษา โดยผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕
  • ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา ในสาขาใดสาขาหนึ่งดังต่อไปนี้
  • สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
  • สาขาจิตเวชศาสตร์
  • สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
  • สาขาอายุรศาสตร์และอนุสาขา
  • สาขาวิสัญญีวิทยา
  • สาขาสูตินรีเวชวิทยา
  • สาขาศัลยศาสตร์
  • สาขากุมารเวชศาสตร์
  • สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์
  • สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • สาขาอายุรศาสตร์โรคเลือด
  • สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  • สาขาจักษุวิทยา
  • สาขาโสต ศอ นาสิก

หมายเหตุ สาขาอื่น ๆ ให้อิงตามมติของอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ อนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคอง

สำเร็จการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี หรือไม่มีพันธะการชดใช้ทุนกับต้นสังกัด หรือต้นสังกัดมีหนังสือยินยอมให้มาฝึกอบรม


ศูนย์การุณรักษ์ได้ตั้งคณะกรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่ประกอบด้วย คณาจารย์ที่มีหน้าที่ดูแลแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่มีประสบการณ์ และตัวแทนแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ทำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ชัดเจน เสมอภาค โปร่งใส การตัดสินการคัดเลือกแพทย์ที่ได้รับเข้าอบรม พิจารณาตามข้อกำหนดต่าง ๆ ดังนี้

  • หนังสือรับรอง (Letter of recommendation) ประวัติความประพฤติ ความรับผิดขอบ
  • หนังสือแนะนำตัว (Personal statement) และประสบการณ์ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง
  • ต้นสังกัด
  • คะแนนจากการสอบสัมภาษณ์

การคัดเลือกจะใช้วิธีเรียงลำดับคะแนนตามจำนวนแพทย์ที่รับได้ และกรณีที่คะแนนใกล้เคียงกันจะขึ้นกับดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือก ผลการคัดเลือกจะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์ฯ เพื่อสรุปผู้ได้รับคัดเลือก ก่อนส่งผลไปยังราชวิทยาลัยฯ และแพทยสภาเพื่อประกาศผลการคัดเลือกต่อไป หากผู้สมัครต้องการอุทธรณ์ผลการคัดเลือกสามารถทำได้โดยการยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจสอบคะแนนได้ โดยติดต่อที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ หลังการประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการภายใน ๕ วันทำการ


ผลลัพธ์และระยะเวลาฝึกอบรม

การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคองใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งสิ้น  ๒ ปี โดยเมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมแพทย์ผู้เข้ารับการอบรมต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านดังต่อไปนี้

การบริบาลผู้ป่วย (Patient care)

  • ประเมินลักษณะทางคลินิกของโรค ปัญหาสุขภาพและการดำเนินโรคและการพยากรณ์โรคที่พบในผู้ป่วยระยะประคับประคอง
  • ตรวจหาสาเหตุและวิเคราะห์โรคและปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่พบในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Patient investigation)
  • ให้การดูแลรักษาภาวะหรืออาการต่าง ๆ ที่พบในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Symptom palliation) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ทั้งการดูแลที่เป็นการใช้ยา เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การแพทย์ทางเลือกและแบบผสมผสาน และวิธีการดูแลอื่นที่จำเป็น โดยอ้างอิงจากเวชปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์
  • ดูแลสุขภาพของผู้ป่วยระยะประคับประคองและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม (Holistic care)
  • ให้การป้องกันและดูแลภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะเร่งด่วน ที่สำคัญในผู้ป่วยระยะประคับประคอง
  • ให้การดูแลผู้ป่วยและครอบครัวเมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต (Impending death and peri-death management)
  • ประเมิน ติดตาม และดูแลสมาชิกครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศก รวมทั้งสามารถทำงานประสานกับวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศกที่ผิดปกติได้อย่างเหมาะสม (Grief and bereavement care)
  • ให้การดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง ผู้ดูแล หรือครอบครัวที่บ้าน (Home-based palliative care) หรือในชุมชนได้อย่างเหมาะสม (Community-based care)
  • ให้การดูแลโดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ป่วยประคับประคองที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนชายขอบ

ความรู้และทักษะหัตถการทางเวชกรรม (Medical Knowledge and Procedural Skills)

  • ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยาคลินิก เป็นต้น
  • ความรู้ ความเชี่ยวชาญในโรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญในผู้ป่วยระยะประคับประคอง
  • มีทักษะในวิชาชีพ สามารถทำหัตถการที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองได้ด้วยตนเอง
  • ความรู้ทางด้านกฎหมาย หลักการทางจริยธรรม และแนวทางการตัดสินใจด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
  • ความรู้ทางด้านผลกระทบของความตาย กับค่านิยมของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาและความเชื่อที่เกี่ยวข้อง ตามบริบทของชุมชน

ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

  • สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยใช้หลักการสื่อสารทางคลินิก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วย (Doctor-patient-family relationship)
  • สื่อสารให้ข้อมูลสภาวะโรค การดำเนินโรค ทางเลือกของการรักษาและการรักษาที่จะได้รับ และให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลรักษาของตนเอง รวมทั้งเพื่อวางแผนการดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจนผู้ป่วยเสียชีวิต
  • สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวในสถานการณ์ที่พบบ่อยหรือซับซ้อนในการดูแลแบบประคับประคอง
  • เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคลากรอื่น โดยเฉพาะด้านการดูแลแบบประคับประคอง
  • สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชากรในชุมชนที่รับผิดชอบ
  • สามารถสร้างความตระหนัก สนับสนุนชี้นำ (Health advocacy) ให้แก่ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน

การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement)

  • เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
  • วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองได้ และนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว
  • ประสานการทำงาน และวางแผนการดูแลร่วมกับทีมสหวิชาชีพอื่น เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีทักษะในการดูแลตนเอง (Self-care) และพัฒนาตนเองให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) สามารถดูแลและรับมือความสูญเสียของตนเอง หรือความสูญเสียที่เกิดจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยและครอบครัว
  • ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองได้

ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (Professionalism)

  • มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน และผู้ร่วมงานสหวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและกฎหมาย
  • มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
  • มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตและพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (continue medical education and professional development)
  • คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและจริยธรรมทางการแพทย์

การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (Systems-based Practice)

  • มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศไทยและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง
  • มีความเข้าใจเรื่องหลักการประกันคุณภาพ ระบบประเมินและพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย และสามารถร่วมดำเนินการพัฒนาคุณภาพตลอดจนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร (Patient and personnel safety) อย่างต่อเนื่อง
  • มีความรู้เรื่องรูปแบบและการพัฒนาบริการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เหมาะสมในแต่ละบริบท เช่น ในโรงพยาบาล ที่บ้าน สถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) การดูแลด้วยเครือข่ายภายในชุมชน รวมทั้งวิธีการส่งต่อระหว่างระบบบริการและการจัดการทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ และมีความสามารถในการนำทีมและบริหารจัดการทีม
  • มีความรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำ และสามารถเป็นผู้นำในทีมสุขภาพ การทำงานร่วมกับหน่วยงานนอกองค์กรและชุมชน (Leadership)
  • มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยี (Information management and technology) เพื่อนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยหรือพัฒนาระบบบริการ

📘 ดาวน์โหลดคู่มือหลักสูตร

ชื่อเอกสาร:
หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรม วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
อนุสาขาเวชศาสตร์ประคับประคอง ศูนย์การุณรักษ์ พ.ศ. ๒๕๖๘

📥 ดาวน์โหลด: คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด