หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรม
ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง พ.ศ. ๒๕๖๖
ศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย)
หลักสูตรเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง
(ภาษาอังกฤษ)
Training Curriculum for Certificate of Medical Proficiency in Palliative Care in Family Medicine
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อเต็ม
-
(ภาษาไทย): ประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง
-
(ภาษาอังกฤษ): Certificate of Medical Proficiency in Palliative Care in Family Medicine
ชื่อย่อ
-
(ภาษาไทย): ป. เวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง
-
(ภาษาอังกฤษ): Cert. in Palliative Care in Family Medicine
หน่วยงาน แหล่งฝึกอบรม ที่รับผิดชอบ
ศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พันธกิจของแผนการฝึกอบรม / หลักสูตร
ศูนย์การุณรักษ์มีพันธกิจที่จะผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองที่มีความซับซ้อน ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดโดยการทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มีทักษะการสื่อสารให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมสุขภาพ
สามารถอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะต่างๆ ให้แก่แพทย์ทั่วไป แพทย์สาขาอื่น ในการดูแลผู้ป่วยประคับประคองในระดับพื้นฐาน (palliative approach) มีทักษะและคุณลักษณะในการเป็นผู้นำ พัฒนาตนเอง และทีมอย่างต่อเนื่อง ประสานการดูแลเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองระหว่าง โรงพยาบาล บ้านและชุมชน และสามารถปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
คุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เข้าอบรม
มีข้อมูลในแท็บดังนี้
ผลลัพธ์และระยะเวลาในการฝึกอบรม
ผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรม
การฝึกอบรมมีระยะเวลา ๑ ปี เมื่อสิ้นสุดการอบรมแพทย์ผู้เข้าอบรมต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านดังต่อไปนี้
การบริบาลผู้ป่วย (Patient care)
- ประเมินลักษณะทางคลินิกของโรคและปัญหาสุขภาพที่สำคัญหรือพบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Clinical assessment)
- ตรวจหาสาเหตุและวิเคราะห์โรคและปัญหาสุขภาพที่สำคัญหรือพบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Patient investigation)
- ให้การดูแลรักษาภาวะหรืออาการต่าง ๆ ที่พบบ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Symptom palliation) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ทั้งการดูแลที่เป็นการใช้ยา เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การแพทย์แบบผสมผสาน และวิธีการดูแลอื่นที่จำเป็น โดยอ้างอิงจากเวชปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์
- ดูแลสุขภาพของผู้ป่วยระยะประคับประคองและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม (Holistic care)
- ให้การป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สำคัญและพบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Health prevention)
- ให้การดูแลผู้ป่วยและครอบครัวเมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต (Impending death and peri-death management)
- ประเมิน ติดตาม และดูแลสมาชิกครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศก รวมทั้งสามารถทำงานประสานกับวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศกที่ผิดปกติได้อย่างเหมาะสม (Grief and bereavement care)
- ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง ผู้ดูแล หรือครอบครัวที่บ้านหรือในชุมชนได้อย่างเหมาะสม (Community-based care)
ความรู้และทักษะหัตถการทางเวชกรรม (Medical Knowledge and Procedural Skills)
- ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยาคลินิก เป็นต้น
- ความรู้ ความเชี่ยวชาญในโรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญหรือพบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง
- มีทักษะในวิชาชีพ สามารถทำหัตถการที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองได้ด้วยตนเอง
- ความรู้ทางด้านกฎหมายและหลักการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
- สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยใช้หลักการสื่อสารทางคลินิก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วย (Doctor-patient-family relationship)
- ให้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลรักษาของตนเอง รวมทั้งเพื่อวางแผนการดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจนผู้ป่วยเสียชีวิต
- สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวในสถานการณ์ที่พบบ่อยในการดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงสื่อสารการวางแผนดูแลล่วงหน้า
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคลากรอื่น โดยเฉพาะด้านการดูแลแบบประคับประคอง
- ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชากรในชุมชนที่รับผิดชอบ
การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement)
- เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
- วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองได้
- ประสานการทำงาน และวางแผนการดูแลร่วมกับทีมสหวิชาชีพอื่น เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
- ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) สามารถปรับตัวจากความตึงเครียดจากการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว และสามารถมีทักษะในการดูแลตนเอง (Self-care)
ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (Professionalism)
- มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน และผู้ร่วมงานสหวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและกฎหมาย
- มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
- มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตและพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (continue medical education and professional development)
- สามารถยึดหลักการตัดสินใจทางจริยธรรมในการให้การดูแลผู้ป่วย
- คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและจริยธรรมทางการแพทย์
การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (Systems-based Practice)
- มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง
- มีความเข้าใจเรื่องหลักการประกันคุณภาพ ระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย และสามารถร่วมดำเนินการพัฒนาคุณภาพ ตลอดจนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร (Patient and personnel safety) อย่างต่อเนื่อง
- มีความรู้เรื่องรูปแบบของการจัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เหมาะสมในแต่ละบริบท เช่น ในโรงพยาบาล ที่บ้าน สถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) การดูแลด้วยเครือข่ายภายในชุมชน รวมทั้งวิธีการส่งต่อระหว่างระบบบริการและการจัดการทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย
📘 คู่มือหลักสูตร
หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรม ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง
ศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๖๖
📥 ดาวน์โหลดได้ที่: ลิงก์ดาวน์โหลด