Renal Palliative Care Clinic

เปิดให้บริการ ณ อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ (กว.) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้น 5
คลินิกดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ไม่ล้างไต ทุกวันอังคารของสัปดาห์ที่ 2 หรือ 4 ของเดือน เวลา 9.00 – 12.00 น.

การดูแลรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 

(Conservative Kidney Management) 
                             เชื่อกันว่าเมื่อผู้ป่วยได้ยินคำว่า “การรักษาด้วยวิธีการดูแลแบบประคับประคอง” หลาย ๆ คนต้องเกิดความสงสัยอย่างแน่นอนว่าคืออะไร ฉันจะเลือกวิธีการรักษาแบบนี้จะได้หรือไม่ และจะต้องทำอย่างไร  เรามาทำความเข้าใจกับวิธี “การรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคอง” กันเถอะ..

การรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคอง คือ 

     การดูแลแบบประคับประคองในผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ฯลฯ ผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยของโรครุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และด้านจิตวิญญาณ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ดังนั้นการดูแลแบบประคับประคองจึงเป็นรูปแบบการดูแลโดยการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและครอบครัวจากผลกระทบของโรคระยะสุดท้าย

     สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้น การรักษาด้วยวิธีการดูแลแบบประคับประคอง  ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งด้านร่ายกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ โดยไม่ใช้การบำบัดทดแทนไตวิธีใดวิธีหนึ่งร่วมด้วย มีเป้าหมายของการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อน ลดความทุกข์จากโรคและให้การดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ถ้าเลือกการรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคองแล้ว ฉันคงไม่จำเป็นต้องมาพบคุณหมออีก

     ไม่เลยค่ะ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเลือกวิธีการรักษาด้วยวิธีการดูแลแบบประคับประคองแต่ยังจำเป็นต้องมาติดตามรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 2 สาขาวิชาชีพ คือ สาขาอายุรแพทย์โรคไต และสาขาดูแลแบบประคับประคอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีหน้าที่การรักษาที่แตกต่างกัน แต่ประสานการดูแลร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด 

เมื่อฉันอยากเข้าโปรแกรมการรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคอง

     การพิจารณารับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าสู่การรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคองนั้น ผู้ป่วยและญาติจำเป็นต้องได้รับการให้คำปรึกษาจากแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลทางเลือกการรักษาแต่ละทาง ได้แก่ การฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้อง การปลูกถ่ายไต และการดูแลแบบประคับประคอง โดยแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อด้อยและรายละเอียดในการดูแลทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน รวมถึงได้รับข้อมูลด้านสภาวะโรค พยากรณ์โรค ระยะเวลาการรอดชีวิต ประโยชน์ ความเสี่ยง และคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยจะได้รับในทางเลือกแต่ละแบบตลอดระยะการดำเนินโรค โดยจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายด้านร่วมกัน ได้แก่ อายุ ภาวะโรคเรื้อรังร่วม พยากรณ์โรค รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมและบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม สถานะสุขภาพ เพศ ความรู้ การศึกษา การรับรู้ ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ความพึงพอใจ วิถีชีวิต การสนับสนุนจากครอบครัว ก่อนที่ผู้ป่วยจะการพิจารณาเลือกวิธีการดูแลรักษาตามความเหมาะสม ตามวิถีชีวิตและบริบททางสังคมเพื่อตอบสนองด้านอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย

ผู้ป่วยแบบใดที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการดูแลแบบประคับประคองมากกว่าการล้างไต

  • ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคตับวายรุนแรงที่ไม่สามารถปลูกถ่ายตับได้ ผู้ที่สูญเสียการรู้สึกตัวชนิดถาวรจากพยาธิสภาพในสมองหรือจากโรคอื่น ๆ (ผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 75 ปี ร่วมกับมี 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคเรื้อรังที่มีคะแนนสูง ผู้ที่แพทย์ผู้รักษาเห็นว่าผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ผู้ที่สมรรถนะด้านร่างกายอยู่ในภาวะพึ่งพา ช่วยเหลือตนเองได้น้อย หรือผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสูงอายุที่อายุ 80 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยที่มีความไม่สุขสบายด้านร่างกาย มีอาการรบกวนการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น อาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก อาการปวด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผู้ดูแล มีครอบครัวที่ซับซ้อนต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น

     ท่านจะมีทีมผู้รักษาช่วยพิจารณาและคัดกรองเพื่อเข้าสู่การรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคอง ความเหมาะสมไม่เพียงแต่มองมุมด้านตัวโรคเท่านั้น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความพึงพอใจ การสนับสนุนจากครอบครัว เราจะเป็นเพื่อนคู่คิดและให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ฉันจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไรหากฉันเข้าสู่การรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคอง

     การมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไรนั้น คำตอบคงไม่ได้มีเพียงว่าท่านเลือกการรักษาด้วยวิธีดูแลแบบประคับประคองเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เนื่องมาจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ได้แก่ อายุ จำนวนและความรุนแรงของโรคร่วมอื่น ๆ ความเปราะบางของสภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรคเรื้อรังที่ท่านมี ที่อยู่อาศัยและความร่วมมือในการรักษาจากครอบครัว ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น  ผู้ป่วยที่มีต้นทุนสุขภาพที่ดีก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่กับลูกหลานได้นาน 

     แต่อย่างไรก็ตาม หากการดูแลแบบประคับประคองและการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายควบคู่และดูแลคู่กันไปตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยวางแผนการรักษาได้เร็วมากขึ้น โดยการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการดำเนินโรค จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ส่งเสริมคุณค่า ศักดิ์ศรี และความสุขสบายของผู้ที่เจ็บป่วย

     จากผลการศึกษาวิจัยทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 ค่าอัตราการกรองของไตเฉลี่ยอยู่ในช่วง 15-20 มล./นาที/1.73 ตรม. และมีอายุ 70 ปีขึ้นไป ระหว่างการเข้าสู่วิธีการดูแลแบบประคับประคองกับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้อง พบว่าผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้องมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยที่เลือกวิธีการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉลี่ย 10 -45 เดือน แต่ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป หรือมีคะแนนความรุนแรงของโรคเรื้อรังสูง ระยะเวลาที่เหลืออาจจะต่างกันเพียง 4-6 เดือน แต่ผู้ป่วยที่เลือกล้างไตวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปคือ ต้องใช้เวลาประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาที่เหลืออยู่ในโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตในโรงพยาบาลมากกว่าที่บ้าน (สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย, 2560) ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ป่วยและครอบครัวควรได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาควรได้มาจากผู้ป่วยและครอบครัวเอง หลังจากได้ปรึกษา พูดคุยกับแพทย์ทีมผู้รักษาจนเข้าใจดีแล้ว

ขอบเขตการบริการ

     คลินิกดูแลแบบประคับประคอง เปิดให้บริการสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ไม่ล้างไต โดยเมื่อมีภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตจะเสื่อมหน้าที่ลง ไม่สามารถขับของเสีย สารน้ำและเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่รุนแรงมากอาจส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ ดังนั้นเมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย แนวทางการรักษาในปัจจุบันมี 4 ทางเลือก ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง การปลูกถ่ายไต และการดูแลแบบประคับประคอง สำหรับทางเลือกการดูแลแบบประคับประคองในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นแนวทางการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดสุขภาวะที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อน ลดความทุกข์จากโรคและให้การดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

     ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดูแลแบบประคับประคอง คือ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกับแพทย์โรคไตซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ โดยทีมดูแลประคับประคองจะร่วมดูแลคู่ขนานไปกับการรักษาโรคหลัก โดยแพทย์ประคับประคองที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนี้

  • จัดการอาการไม่สุขสบายต่าง ๆ เช่น อาการปวด หายใจลำบาก คัน คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ
  • ส่งเสริมสมรรถนะร่างกายไว้ให้ได้มากที่สุด
  • ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การติดตามอาการเมื่อมาตรวจตามนัดที่คลินิกชะลอไตเสื่อม การติดตามอาการทางโทรศัพท์ การเยี่ยมบ้าน และการบริการพบแพทย์ผ่าน VDO call (Tele-consultation)
  • การสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลโรค การดำเนินโรค การดูแลต่าง ๆ
  • การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ที่บ้าน
  • การประสานงานทีมสุขภาพในชุมชนร่วมดูแล
  • ขอคำแนะนำ / คำปรึกษาจากทีมที่เชี่ยวชาญการดูแลประคับประคองได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รูปแบบการบริการ

     ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มารับบริการการดูแลแบบประคับประคองที่คลินิกชะลอไตเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจรักษา ร่วมกับบันทึกผลการตรวจรักษา กับแพทย์
ผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรแพทย์โรคไต และสาขาดูแลประคับประคอง 
ผู้เข้ารับบริการ มี 3 กลุ่ม ได้แก่  เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มารับบริการการดูแลแบบประคับประคอง

1. ผู้ป่วยรายใหม่ ผ่านการเตรียมตัวรับข้อมูลการบำบัดทดแทนไตมาแล้ว และตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง โดยปฏิเสธการรักษาแบบบำบัดทดแทนไต
2. ผู้ป่วยรายเก่า เป็นผู้ป่วยในโปรแกรมการดูแลแบบประคับประคอง มาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
3. ผู้ป่วยที่ผ่านการเตรียมตัวสู่การบำบัดทดแทนไตแล้ว และขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมกับวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคองเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา แต่ยังไม่ต้องการเข้าโปรแกรมการดูแลแบบประคับประคอง
     * มีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับปัญหาด้านอายุ สถานะสุขภาพ พยากรณ์โรค
     * มีปัจจัยทางด้านสังคมและบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ความพึงพอใจ วิถีชีวิต การสนับสนุนจากครอบครัว
4. ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องการทำ advance care planning
5. ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายทีมีปัญหาซับซ้อนด้านจิตสังคม และจิตวิญญาณ
6. ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ที่มีอาการที่จัดการลำบาก

Conservative Kidney Management

ผังการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

แผ่นพับแนะนำคลินิกประคับประคอง

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

Brochure Conservative Kidney Management

ติดต่อสอบถาม